นางพิมพิลาไลย
นางพิมพิลาไลยหรือนางพิมนั้นเป็นธิดาของพันศรโยธากับนางศรีประจัน บิดามารดาของนางเป็นเศรษฐีทั้งคู่ ทั้งสองตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ท่าพี่เลี้ยง เมืองสุพรรณบุรี นางพิมเป็นหญิงรูปงามมาตั้งแต่เล็กๆ ดังที่ว่า
ทรวดทรงส่งศรีไม่มีแม้น |
อรชรอ้อนแอ้นประหนึ่งเหลา |
ผมสลวยสวยขำงามเงา |
ให้ชื่อเจ้าว่าพิมพิลาไลย |
นางพิมได้รับการอบรมสั่งสอนอย่างกุลสตรีไทยมาตั้งแต่เล็กๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเย็บปักถักร้อย งานบ้านงานเรือน ฝีมือนางพิมนั้นจัดได้ว่าเป็นเลิศในหมู่เด็กสาวรุ่นราวคราวเดียวกัน ไม่มีใครมาเปรียบได้
เราอาจพูดได้ว่า นางพิมนั้นก็เป็นเช่นแบบอุดมคติของนางเอกวรรณคดีไทยทั่วไป ที่มีรูปงาม มีฝีมือทางการบ้านการเรือน แต่นางพิมก็มีลักษณะเฉพาะตัวหลายประการ ที่มีส่วนทำให้เรื่องขุนช้างขุนแผนมีความเข้มข้น ดังจะเห็นได้ดังจะกล่าวต่อไปนี้
นางพิม : กุลสตรีหรือสาวมั่น ?
หากเราศึกษานางพิมเพียงจากประวัติพื้นหลังของนาง เราอาจกล่าวได้เพียงว่านางพิมก็เป็นหญิงผู้ดีบ้านนอก ที่ได้รับการอบรมสั่งสอนให้รู้จักหน้าที่ของแม่บ้านแม่เรือน ซึ่งโดยผิวเผินแล้วนางพิมก็อาจจัดเป็นกุลสตรีได้ ด้วยความที่นางพิมเก่งในด้านการเรือน แต่นี่ก็ไม่ได้เป็นเหตุผลอันเพียงพอที่จะสนับสนุนความคิดดังกล่าว "กุลสตรี"ในวรรณคดีไทยนั้น ส่วนใหญ่ก็จะไม่มีคุณสมบัติผิดไปจากนางพิม ผู้อ่านหลายคนอาจจะยกเหตุผลที่ว่า นางพิมนั้นเป็นผู้รักนวลสงวนตัว ซึ่งเป็นคุณสมบัติจำเป็นของกุลสตรี ดังจะเห็นได้จาก ตอนที่นางพิมว่านางสายทองว่าทำตนเป็นแม่สื่อ ชักชู้มาให้ตน โดยตอบนางสายทองไปว่า
นางพิมพิลาไลยครั้นได้ฟัง |
ยังแน่นอนอยู่หาพลั้งหาพล้ำไม่ |
โต้ตอบคดีพี่เลี้ยงไป |
น้องนี้ไม่คิดเลยพี่สายทอง |
ธรรมดาเกิดมาเป็นสตรี |
ชั่วดีคงมีคู่มาสู่สอง |
มารดาย่อมอุตส่าห์ประคับประคอง |
หมายปองว่าจะปลูกให้เป็นเรือน |
อนึ่งเราเขาก็ว่าเป็นผู้ดี |
มั่งมีแม่มิให้ลูกอายเพื่อน |
จะด่วนร้อนก่อนแม่ทำแชเชือน |
ความอายจะกระเทือนถึงมารดา |
ถ้าสิ้นบุญคุณแม่มิได้แต่ง |
จะพลิกแพลงไปก็ตามแต่วาสนา |
จะด่วนร้อนก่อนแม่ไม่เข้ายา |
ใช่จะว่าไร้ชายที่ชอบพอ |
ถ้ารูปชั่วตัวเป็นมะเร็งเรื้อน |
ไม่เทียมเพื่อนเห็นจะจนซึ่งคนขอ |
ถ้ารูปดีมีเงินเขาชมปรอ |
ไม่พักท้อเลยที่ชายจะหมายตาม |
อดเปรี้ยวกินหวานตระการใจ |
ลูกไม้หรือจะสุกไปก่อนห่าม |
มีแต่แป้งแต่งนวลไว้ให้งาม |
ร้อนใจอะไรจะถามทุกเวลา |
ทุกข์ใหญ่เหมือนไฟอยู่ในอก |
ไหม้หมกก็ไหม้อยู่ในหน้า |
ถ้ายามอยากอยู่เหมือนเรากินปลา |
ถึงอย่างนั้นจะว่าก็สมควร |
มาชมจันทร์เล่นด้วยกันสบายใจ |
พี่พูดอะไรเช่นนั้นให้ปั่นป่วน |
ถ้ารักนวลสงวนหน้าไว้ให้นวล |
อย่ามากวนข้าไม่พูดไม่พอใจ |
ไม่สงสัยเลยว่านางพิมเป็นหญิงฉลาด สามารถพูดปิดบังความรู้สึกที่แท้จริงเอาไว้ได้อย่างแนบเนียน ไม่ให้สายทองรู้ว่าตนก็พอใจพลายแก้ว อีกทั้งตอนที่นางพิมอ้อนวอนให้พลายแก้วอย่าลวนลามตนที่ไร่ฝ้ายก็แสดงถึงความรักนวลสงวนตัวของนางพิม ตรงที่ว่า
อนิจจาว่าแล้วหาฟังไม่ |
จะฆ่าพิมเสียที่ไร่นี่แล้วหรือ |
รักน้องกลางหนให้คนลือ |
อย่างนี้น้องไม่ถือว่ารักน้อง |
โดยชั่วถึงตัวมิได้แต่ง |
ก็จัดแจงน้องนี้มีหอห้อง |
พอควรการแล้วฮันจะปรองดอง |
มิให้ข้องขัดเคืองกระเดื่องใจ |
ตัวน้องมิใช่ของอันเคยขาย |
จะเรียงรายกลางหนหาควรไม่ |
พิเคราะห์ให้เหมาะก่อนเป็นไร |
กลับไปเถิดพ่อแก้วผู้แววตา |
อดข้าวดอกนะเจ้าชีวิตวาย |
ไม่ตายดอกเพราะอดเสน่หา |
นางก้มอยู่กับตักซบพักตรา |
เฝ้าวอนว่าไหว้พลางพ่อวางพิม |
ทั้งสองตัวอย่างอาจเป็นหลักฐานสำคัญที่ชี้ว่า นางพิมเป็นคนรักนวลสงวนตัว เป็นกุลสตรี แต่ถ้าหากวิเคราะห์กันจริงๆแล้ว นางพิมเพียงแต่พูดตามธรรมเนียม ค่านิยมที่ถูกปลูกฝังมา ใจจริงของนางพิม รัก ที่จะทำเช่นนั้นจริงหรือ ? นิสัยจริงๆของนางพิมนั้นเรียกได้ว่า "กล้า" เกินหญิงยุคนั้นทีเดียว เมื่อนางพิมไปฟังเทศน์มหาชาติที่พลายแก้วเป็นผู้เทศน์ จะด้วยความซาบซึ้งจับใจในรสพระธรรมหรือในตัวเณรหรืออะไรก็ตาม นางพิมได้ถวายผ้าสไบของตนให้เณรแก้ว
ทุกคนดลใจให้ศรัทธา |
นางพิมเปลื้องผ้าทับทิมพลัน |
จีบจบคำรบถ้วนสามที |
ยินดีวางลงในพานนั่น |
ถวายแล้วนอบนบอภิวันท์ |
พิษฐานสำคัญด้วยศรัทธา |
การกระทำเช่นนี้อาจอนุมานได้ว่า จริงๆแล้วนางพิมถวายผ้าเพราะพอใจในตัวเณรแก้ว มากกว่าซาบซึ้งในรสพระธรรม นางพิมสามารถเลือกจะถวายอย่างอื่นได้นอกจากผ้าสไบ อันถือว่าเป็นของใช้ส่วนตัวของผู้หญิง การกระทำของนางพิมนั้นเข้าข่ายการ "ทอดสะพาน" ซึ่งไม่สมควรอย่างยิ่งเพราะอีกฝ่ายเป็นเณร การแสดงออกเช่นนี้เป็นการกระทำของหญิงที่ออกจะกล้าเกินกรอบสมัยนิยมยุคนั้นเลยทีเดียว
ความฉลาดของนางพิมนั้นไม่ได้มีอยู่แต่ที่การรู้จักใช้คำพูดเพื่อเลี่ยงการเผยความรู้สึก นางพิมยังรู้จักใช้ความฉลาดวางแผนเพื่อให้ได้พบกัยพลายแก้วอีกด้วย ดังจะเห็นได้จากตอนที่นางพิมโกหกนางศรีประจันว่าพวกทาสีลักฝ้ายไปขาย เพื่อให้นางศรีประจันอนุญาตให้ตนไปไร่ฝ้ายได้
นางพิมพิลาไลยกับสายทอง |
ทั้งสองกินข้าวปลาหาช้าไม่ |
อิ่มหนำสำราญบานใจ |
จึงพูดจาปราศรัยกับมารดา |
วันนี้ลูกจะไปที่ไร่เหนือ |
ฝ้ายเฝื่อแตกกระจายเสียหนักหนา |
ลูกจะออกไปดูกับหูตา |
จะไว้ใจกับข้าไม่ต้องการ |
มันลักจำแนกแจกจ่าย |
ซื้อขายกินเล่นไปทั้งบ้าน |
ลูกเห็นกับตามาช้านาน |
จะว่าขานมันก็ไม่ถนัดใจ |
การเป็นกุลสตรีของนางพิมนั้น เป็นไปตามธรรมเนียมที่ได้รับการอบรมกันมา หากนางพิมเป็นกุลสตรีจริง ย่อมไม่ทอดสะพานให้ผู้ชายคนไหน ไม่เป็นใจให้โอกาสใครโดยปราศจากความเห็นชอบของผู้ใหญ่ นางพิมน่าจะเป็นอย่างที่เราเรียกกันว่า "สาวมั่น" เสียมากกว่า
มารยาทและความประพฤติ
อย่างที่ได้กล่าวมาแล้วว่า นางพิมได้รับการอบรมมาอย่างผู้ดีในเมืองสุพรรณ มีหน้ามีตากว่าผู้หญิงบ้านเดียวกัน โดยปกติแล้ว นางพิมก็มีมารยาทดีสมเป็นลูกคนมีเงิน แต่ถ้านางพิมโกรธ นางพิมก็ใช้วาจาได้ถึงอกถึงใจผู้อ่าน เช่น ตอนที่นางวันทองด่าขุนช้างตอนที่ขุนช้างมาหลอกว่าพลายแก้วตายแล้ว
ครานั้นจึงโฉมนางวันทอง |
อยู่ในห้องได้ยินขุนช้างว่า |
เสียงแม่ร้องไห้โฮโผล่ออกมา |
เห็นหน้าขุนช้างก็ขัดใจ |
ใครมาว่าชั่วผัวกูตาย |
แกล้งใส่ความร้ายกูจะด่าให้ |
อ้ายงูเห่าเจ้าเล่ห์ทุกอย่างไป |
หม้อใบละสิบเบี้ยสู้เสียมา |
กระทืบตีนผางผางกลางประตู |
โคตรแม่มึงกูขี้คร้านด่า |
กลับเข้าในหอคลอน้ำตา |
ทอดตัวโศกาในที่นอน |
นางพิมจึงนับว่าเป็นผู้หญิงปากจัดคนหนึ่งในบรรดานางเอกวรรณคดีไทย