สำนวนภาษาและวรรคทอง

ตอนที่๑

ตอนที่สายทองพูดกับพลายแก้วขณะที่สายทองกำลังลงอาบน้ำเพื่อให้สายทองช่วยเป็นแม่สื่อให้ตนกับนางพิม

สำนวนที่๑

พลายแก้วพูดกับสายทองเปรียบว่าตนเป็นดังกระต่ายที่หมายปองดวงจันทร์ และเปรียบเทียบสายทองว่าเป็นดังพระอินทร์ที่จะมาช่วยให้กระต่ายได้สมปอง สำนวนที่ใช้ในตอนนี้คือ

กระต่ายหมายจันทร์ หมายถึง ผู้ชายที่หมายปองผู้หญิงที่สูงศักดิ์กว่า

อันเณรน้องเหมือนกระต่ายหมายชมจันทร์

อยู่ดินหรือจะดั้นขึ้นไปได

แต่ตรอมตรอมผอมร่างก็บางไป

ด้วยทางไกลกลางหาวเมื่อคราวก่อน

ได้องค์อินทร์แลจะสิ้นสำเร็จตรม

จะได้ชมกระต่ายสวรรค์จันทร์ผยอง

อินทราอุปมาเหมือนสายทอง

พิมน้องเหมือนกระต่ายในวงจันทร์

สำนวนที่๒

สายทองโต้ตอบว่าตนก็มิได้รับประโยชน์จากสิ่งที่พลายแก้วขอร้องให้ช่วยแต่อย่างใด หนำซ้ำยังเหมือนเป็นการหาเรื่องใส่ตัวอีกด้วย ในช่วงนี้มีการใช้สำนวนถึง ๒ สำนวนคือ

-เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้ปู เอากระดูกมาแขวนคอ

-ตีงูให้กากิน

สองสำนวนนี้มีความหมายคล้ายกันคือ การทำอะไรลงไปแล้วไม่ได้รับผลตอบแทนเป็นการกระทำที่สูญเปล่า

เนื้อมิได้กินมั่งหนังมิได้ปู

กระดูกจะแขวนคออยู่เหมือนตัวข้า

เจ้าได้พิมก็จะได้ยิ้มอยู่อัตรา

ก็ถูกด่าก็อายแก่สายทอง

เหมือนตีงูมิได้สู่กันแกงกิน

กาเหยี่ยวเฉี่ยวบินไปคล่องคล่อง

แต่นี้ไปพ่ออย่าได้คะนึงปอง

มิใช่ของควรประคิ่นของกินตาย

สำนวนที่๓

พลายแก้วพยายามหว่านล้อมสายทองให้ช่วยเหลือตน

เด็ดปลีเหลือใย หมายถึง ตัดไม่ขาดก็หมายความว่าถึงตัดความสัมพันธ์ไปแล้วก็ยังคงเหลือเยื่อใยต่อกันอยู่

เด็ดปลียังมีซึ่งใยเยื่อ

ได้มาพึ่งแล้วก็เผื่อฉันไว้บ้าง

ได้พิมเชยหรือจะเลยทิ้งพี่นาง

ก็เหมือนอย่างหว่านข้าวลงในดิน

ตอนที่๒

ตอนที่นางสายทองมาพูดหว่านล้อมนางพิมให้ติดต่อกับพลายแก้ว

สำนวนที่๑ (วรรคทอง)

นางพิมรู้ทันว่าสายทองกำลังทำตัวเป็นแม่สื่อ จึงตอบโต้ด้วยการอธิบายว่ากุลสตรีที่ดีนั้นไม่แคล้ววันหนึ่งต้องมีคู่ครองเป็นแน่แท้ เป็นการแสดงลักษณะรักนวลสงวนตัวของนางพิมพ์

ธรรมดาเกิดมาเป็นสตรี

ชั่วดีคงได้คู่มาสู่สอง

มารดาย่อมอุตส่าห์ประคับประคอง

หมายปองว่าจะปลูกให้เป็นเรือน

อนึ่งเราเขาก็ว่าเป็นผู้ดี

มั่งมีแม่มิให้ลูกอายเพื่อน

จะด่วนร้อนก่อนแม่ทำแชเชือน

ความอายจะกระเทือนมารดา

ไปถ้าสิ้นบุญคุณแม่มิได้แต่ง

จะพลิกแพลงไปก็ตามแต่วาสนา

จะด่วนร้อนก่อนแม่ไม่เข้ายา

ใช่ว่าจะไร้ชายที่ชอบพอ

ถ้ารูปชั่วตัวเป็นมะเร็งเรื้อน

ไม่เทียมเพื่อนเห็นจะซึ่งคนขอ

ถ้ารูปดีมีเงินเขาชมปรอ

ไม่พักท้อเลยที่ชายจะหมายตาม

อดเปรี้ยวกินหวานตระการใจ

ลูกไม้หรือจะสุกไปก่อนห่าม

มีแต่แป้งแต่งนวลไว้ให้งาม

ร้อนใจอะไรจะถามทุกเวลา

ทุกข์ใหญ่เหมือนไฟอยู่ในอก

ไหม้หมกก็ไหม้อยู่ในหน้า

ถ้ายามอยากอยู่เหมือนเรากินข้าวปลา

ถึงกระนั้นจะว่าก็สมควร

มาชมจันทร์เล่นด้วยกันสบายใจ

พี่พูดอะไรเช่นนั้นให้ปั่นป่วน

ถ้ารักนวลสงวนหน้าไว้ให้นวล

อย่ามากวนข้าไม่พูดไม่พอใจ

สำนวนที่๒ (วรรคทอง)

เป็นคำพูดที่แสดงความรอบคอบของนางพิมที่พูดดักทางขุนแผนตอนที่ขุนแผนมาติดพัน

เป็นเพื่อนแล้วจะเชือนเข้าเป็นชู้

มิรู้ที่จะคิดอย่างไรได้

คิดว่ารักทักกันมาแต่ไร

จึงเพ้อพาซื่อไปไม่สงกา

ตอนที่๓

ตอนที่ขุนแผนลอบหานางพิมที่ไร่ฝ้ายเพื่อแสดงความรักของตนที่มีต่อนางพิม

สำนวนที่๑ (วรรคทอง)

เป็นลักษณะของคำประพันธ์ที่มีการยกความมาเปรียบถึงความรักของขุนแผนที่มีต่อนางพิมไว้อย่างงดงาม

อันความรักหนักแน่นแสนวิตก

ระอาอกแทบเท่าภูเขาหลวง

พรหมินทร์อินจันทร์สิ้นทั้งปวง

ก็บนบวงสิ้นฟ้าสุราลัย

เชื้อเชิญเมินหน้าไม่มาช่วย

เห็นคงม้วยไม่หมายผู้ใดได้

เว้นแต่เจ้าเยาวยอดผู้ร่วมใจ

จะผลักพลิกแพลงให้บรรเทาลง ฯ

สำนวนที่๒ (วรรคทอง)

เป็นคำพูดที่แสดงถึงลักษณะของหญิงในสมัยก่อนที่ต้องอยู่กับกรอบประเพณีที่เคร่งครัดด้วยถ้อยคำที่ตรงไปตรงมา

ถ้าเจ้าแก้วขอแล้วแม่คุณให้

น้องดีใจได้พ่อมาเป็นผัว

ทำชู้สู่หาข้านี้กลัว

ความชั่วเขาติฉินไม่ยินดี

สำนวนที่๓ (วรรคทอง)

เป็นข้อคิดที่ปรากฏอยู่ในเรื่องนี้ที่แสดงถึงลักษณะของมนุษย์ซึ่งในเรื่องคือพลายแก้ว

ซึ่งเจ้าเปรียบเทียบคิดจิตมนุษย์

หาสิ้นสุดความโลภลงได้ไม่

เหมือนของกินหารู้สิ้นไปเมื่อไร

เป็นวิสัยสังเกตแก่ฝูงคน

สำนวนที่๔ (วรรคทอง)

เป็นลักษณะคำพูดที่คมคายแสดงถึงความฉลาดของนางพิม ที่แสดงลักษณะความจริงในโลก

ตัวน้องมิใช่ของอันเคยขาย

จะเรียงรายกลายหนหาควรไม่

พิเคราะห์ให้เหมาะก่อนเป็นไร

กลับไปเถิดพ่อแก้วผู้แววตา

อดข้าวดอกนะเจ้าชีวิตวาย

ไม่ตายดอกเพราะอดเสน่หา

นางก้มอยู่กับตักซบพักตรา

เฝ้าวอนว่าไหว้พลางพ่อวางพิม ฯ